ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 มีมติรับทราบแผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรและเพื่อให้การเดินทางระหว่างพื้นที่สองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยามีความสะดวกมากขึ้น โดยให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการรับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด
โดยเฉพาะประเด็นเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการด้วย
โครงการสะพานสนามบินน้ำ ประกอบด้วย สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และโครงข่ายถนนเชื่อมต่อจากสะพานไปทางทิศตะวันตก บรรจบกับถนนราชพฤกษ์ และเชื่อมต่อสะพานไปทางทิศตะวันออก บรรจบถนนติวานนท์ รวมระยะทางประมาณ
8 กิโลเมตร ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยกระจายปริมาณจราจรจากสะพานพระนั่งเกล้า และสะพานพระราม 4 รวมทั้งรองรับการพัฒนาพื้นที่ในอนาคต
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 กรมทางหลวงชนบทได้จัดทำโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นโครงการสะพานสนามบินน้ำ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาความเหมาะสมและจัดทำรายละเอียดแผนงาน/โครงการ
รวมถึงการประชาสัมพันธ์และการก่อสร้างต่อไป เพื่อให้โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2574 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556
ด้วยการพัฒนาโครงการเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรอยู่ในระยะห่างข้างละ 1 กิโลเมตร และพาดผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ
ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 กรมทางหลวงชนบทจึงจะได้ดำเนินงานศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และ สำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยพื้นที่โครงการอยู่ในพื้นที่ที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมาก
มีการพัฒนาพื้นที่สองข้างทางเป็นอาคารพาณิชย์ หมู่บ้านจัดสรร ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และพื้นที่ด้านธุรกิจการค้าอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดและรวดเร็ว ส่งผลให้อาจมีผลกระทบต่อความเหมาะสมของรูปแบบโครงการตามผลการศึกษาเดิม ดังนั้น กรมทางหลวงชนบทจึงกำหนดให้มีการทบทวนผลการศึกษาเหมาะสมฯ
ของโครงการ ควบคู่ไปกับการดำเนินกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนและการประชาสัมพันธ์โครงการตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน เพื่อให้การพัฒนาโครงการสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่องบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป นอกจากนี้ กรมทางหลวงชนบทยังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผลกระทบด้านการจราจรภายในพื้นที่ต่อเนื่องจากการพัฒนาโครงการ
จึงได้กำหนดให้มีการศึกษาแนวทางการปรับปรุงโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่ต่อเชื่อมกับโครงการ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
COPYRIGHT © 2021 PRE-DEVELOPMENT CONSULTANT CO.,LTD. ALL RIGHT RESERVED.